การเมือง..ลิ่มขัดแย้งเพื่อนเฟซบุ๊ก

g8a9akhj5fbikaeakdacbการเมืองและศาสนา เป็นหัวข้อสนทนาที่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยากแตกคอกับเพื่อนมาทุกยุคสมัย ยิ่งในประเทศไทยปี พ.ศ.นี้ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่ว่าจะคุยออฟไลน์ หรือในชุมชนสังคมออนไลน์ กระนั้น การเมืองแบ่งขั้วที่เป็นลิ่มทิ่มแทงความสัมพันธ์ผองเพื่อนบนเฟซบุ๊กที่กำลังพูดถึงมากในบ้านเรา ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะที่หรือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เพิ่งมีผลศึกษาของนักศึกษาปริญญาเอก สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเมืองคือหัวข้อสร้างความแตกแยกอย่างแท้จริงบนเฟซบุ๊ก

ผลศึกษาพบว่า คนที่คิดว่าเพื่อนส่วนมากบนเฟซบุ๊ก มีความคิดความเห็นต่างจากความเห็นของตัวเอง จะใช้เฟซบุ๊กน้อยลง ส่วนคนที่ออนไลน์ตลอดและมีความตื่นตัวทางการเมือง ส่วนมากแล้วเลือกที่จะยึดโยงอยู่กับกลุ่มของตัวเอง เพิกเฉยคนที่อยู่อีกฝั่งและกลายเป็นแบ่งขั้วเลือกข้างมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กมักเลือกเป็นเพื่อนและมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีค่านิยมกับความสนใจคล้ายกัน ขณะเดียวกันก็ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนไม่กี่คนที่มีความเห็นต่างออกไป มีน้อยมากตามไปด้วย และผลลัพธ์คือ การไม่ได้รับรู้มุมมองตรงข้าม

นักวิจัยสำรวจจากผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีความตื่นตัวทางการเมืองจำนวน 100 คนเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงที่ชาวอเมริกันกำลังถกเถียงเรื่องการตัดลดงบประมาณ การออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนและการแต่งงานของคู่รักชาวเกย์ ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจส่วนมากเป็นสตรี เสรีนิยม อายุต่ำกว่า 40 ปี สะท้อนกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กในภาพรวม ซึ่งกว่าร้อยละ 70 กล่าวว่า ไม่คุยการเมืองกับเพื่อนที่มีความเห็นต่าง หากพบเห็นบางเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 60 เลือกมองข้ามและไม่แสดงความเห็น เมื่อแสดงความเห็น บางครั้งทำให้อีกฝ่ายเกิดคำถามเรื่องความสัมพันธ์และออกจากกลุ่มเพื่อน

แคทเทอรีน เกรเวต นักศึกษาปริญญาเอกของจอร์เจีย เทค ที่เป็นหัวหน้าคณะศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า เว็บสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก อาจช่วยบรรเทาความแตกแยกได้ ด้วยการออกแบบใหม่ เช่น แทนที่หน้า newfeed จะมีแต่ความเห็นของเพื่อนที่ปฏิสัมพันธ์กันประจำอยู่แล้ว เฟซบุ๊กอาจทำให้เห็นข้อความหรืออัพเดตสเตตัสประเด็นการเมืองสองด้าน เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นความคิดเห็นแตกต่างบ้างเป็นครั้วคราว

นักวิจัยกล่าวว่า แม้ผู้ใช้บางส่วนอาจเลิกเป็นเพื่อน หรือ unfriend กับคนที่มีความเห็นต่าง และมีคนที่ทำแบบนั้นแน่ๆ แต่ก็มีจำนวนมากที่ยังคงรักษาสัมพันธ์ไว้ ด้วยการใช้ตัวเลือกที่เฟซบุ๊กให้ไว้ อาทิ ซ่อน เลิกติดตาม หรือหลีกเลี่ยงการสนทนาบางเรื่อง เพื่อยังคงติดต่อคบหากันต่อไป


ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.komchadluek.net


http://www.komchadluek.net/detail/20140201/177942.html#.UvhH4WJ_uSo

Posted in บทความน่ารู้.